ภาพยนตร์สารคดี Kusama : Infinity กับการทำงาน 17 ปีของผู้กำกับหญิง Heather Lenz
*บทความนี้เขียนเพื่อเผยแพร่ใน Directed by Women Thailand : Click
ภาพยนตร์สารคดี Kusama : Infinity กับการทำงาน 17 ปีของผู้กำกับหญิง Heather Lenz . ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ภาพยนตร์สารคดี Kusama : Infinity ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากคนดูหนังในไทย แน่นอนว่าเพราะความโด่งดังของอาจารย์คุซามะ ยาโยอิและผลงานเฉพาะตัวของเธอ ทั้งห้องกระจกไร้ขอบเขต, ลายจุดบนผืนผ้าใบและงาน installation แปลกตา ทำให้พวกเรากระหายที่จะเข้าไปรู้จักเธอและขั้นตอนความคิดของเธอมากขึ้นและภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Kusama : Infinity ได้ตอบโจทย์นั้นเป็นอย่างดีในการพาเราเดินทางไปถึงต้นกำเนิดของความเป็นคุซามะ และลงลึกไปยังจุดเริ่มต้น ตั้งแต่เรื่องราวสมัยเด็ก, ความสัมพันธ์ในครอบครัว, การผจญภัยต่อสู้ดิ้นรนในฐานะศิลปินหญิงทั้งในบ้านเกิดตัวเองและต่างถิ่น, ซึ่งนำไปสู่หัวใจที่แตกสลายและการมาเยือนของโรคทางจิตเวช, รวมถึงความพยายามที่ไม่จบสิ้นของอาจารย์คุซามะจนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ . เพราะความประทับใจหลังจากได้ดู Kusama : Infinity ที่ครอบคลุมทุกเนื้อหาและเต็มไปข้อมูล รวมไปถึงภาพถ่าย, footage เก่าเก็บและบทสัมภาษณ์จากคนในแวดวงศิลปะมากมายที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้มีชีวิตและน่าติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ทาง Directed by Women Thailand จึงเกิดความสนใจในตัวผู้กำกับภาพยนตร์และวิธีการทำงานของเธอ เราจึงได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ จากบทสัมภาษณ์ของ Heather Lenz ตั้งแต่จุดเริ่มต้น, การหาทุน, การทำหนังนาน 17 ปีและคำแนะนำสำหรับนักทำหนังมือใหม่มาให้ได้อ่านกัน . ประวัติโดยย่อ : Heather Lenz เป็นนักเขียน, ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์หญิงชาวอเมริกัน เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ศิลป์และวิจิตรศิลป์, ปริญญาโทด้านภาพยนตร์จาก the University of Sounthern California ซึ่งสารคดีสั้นของเธอเรื่อง Back to back เมื่อสมัยเรียน เคยได้รับการเสนอชื่อในออสการ์นักเรียนด้วย .
ที่ผ่านมา Lenz ทำงานทั้งด้านโทรทัศน์และภาพยนตร์หลายโครงการในหลายตำแหน่ง เช่น การเป็นผู้ค้นคว้าข้อมูลให้ The History Channel และ Food network, การเป็นผู้อำนวยการดูการสร้างให้กับซีรีส์ของ PBS เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น . Kusama : Infinity สำหรับเธอเป็นเรื่องเกี่ยวกับ ผู้หญิงคนหนึ่งที่ปลดปล่อยตัวเองจากสังคมเข้มงวดที่ได้เลี้ยงดูเธอมาอย่างมีกรอบจำกัดและการเอาชนะ การเหยียดเพศ เหยียดผิวและการป่วยทางจิตในขณะที่ยังคงวิ่งตามความฝันของการเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จไปด้วย ซึ่ง Lenzในฐานะผู้กำกับและผู้สร้างหนังเรื่องนี้ต้องการให้คนดูรู้สึกถึงแรงบันดาลใจหลังจากดูจบและได้เห็นถึงความเป็นศิลปินทรงคุณค่าของอาจารย์คุซามะ ยาโยอิ
.
จุดเริ่มต้นและการเดินทาง
.
Lenz เริ่มตามผลงานของอาจารย์คุซามะตั้งแต่ช่วงต้นปี 90 เธอได้รู้จักอาจารย์ครั้งแรกขณะที่เธอกำลังศึกษาปริญญาตรีในคณะประวัติศาสตร์ศิลป์และวิจิตรศิลป์ เธอตกหลุมรักผลงานของอาจารย์ในทันทีแต่แล้วกลับพบว่ามีหนังสือเพียงเล่มเดียวที่เอ่ยถึงคุซามะเท่านั้น Lenz ตระหนักได้ว่าคุซามะไม่ได้รับการสนับสนุนในวงการศิลปะอเมริกันด้วยความเข้าใจ เห็นคุณค่าและยอมรับเท่าที่ควร อีกทั้งพอ Lenz พบข้อมูลเพิ่มเติมว่าอาจารย์คุซามะอาศัยอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช เธอก็คิดว่าคุซามะต้องมีชีวิตแสนซับซ้อนแต่ก็ต้องมีเรื่องราวที่สร้างแรงบันดาลใจอยู่ในนั้นอย่างแน่นอน . ในปี 2001 ขณะที่เธอเรียนปริญญาโทสาขาภาพยนตร์ Lenz ได้เริ่มเขียนบทภาพยนตร์เรื่องคุซามะ ซึ่งตอนแรกเธอตั้งใจจะทำเป็นหนังชีวประวัติ แต่พอมานึกถึงความเป็นไปได้ของผู้กำกับหญิงมือใหม่ที่เพิ่งเรียนจบ ทำหนังฟอร์มใหญ่ ใช้เงินเยอะ แถมเนื้อเรื่องยังเกี่ยวกับศิลปินหญิงที่ไม่โด่งดังอีก Lenz ก็คิดว่าไม่น่าจะรอด รวมกับความจริงที่ว่าอาจารย์คุซามะเองก็ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ทำให้เธอลองมาตรึกตรองดูใหม่และเห็นว่าอาจจะเป็นการดีกว่าที่ให้อาจารย์คุซามะมาเล่าถึงชีวิตของเธอด้วยตัวเอง ด้วยเหตุนี้ Lenz จึงตัดสินใจเปลี่ยนภาพยนตร์ชีวประวัติเรื่องนี้เป็นสารคดีแทน แต่เธอก็สารภาพว่าไม่เคยคิดเลยว่าหนังเรื่องนี้จะใช้เวลาทำนานถึง 17 ปี . ช่วงปี 2002 Lenz สืบหาเบอร์โทรศัพท์ของอาจารย์คุซามะจนเจอ เพื่อนของเธอได้โทรไปยังสตูดิโอที่อาจารย์ทำงานอยู่และอธิบายว่าพวกเขากำลังทำหนังสารคดีเกี่ยวกับอาจารย์แต่ปรากฏว่าทางสตูดิโอไม่ค่อยเข้าใจการสร้างหนังอินดี้เท่าไหร่นัก ในตอนนั้นเองที่ Lenz เริ่มคิดว่านี่มันจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต แต่เธอก็ดึงดันที่จะทำหนังเรื่องนี้ต่อและก็รู้สึกโชคดีที่ตัดสินใจเช่นนั้นเพราะผู้ให้สัมภาษณ์บางคนในหนังก็ได้เสียชีวิตไปแล้วเช่น Beatrice Perry ผู้ซึ่งมีความสำคัญกับคุซามะและยังเป็นคนแรกๆ ที่เธอได้มีโอกาสสัมภาษณ์ . ในปี 2004 Lenz ได้ร่วมทีมกับโปรดิวเซอร์คู่หู Karen Johnson พวกเธอทั้งสองเริ่มโปรดักชั่นด้วยการถ่ายทำบทสัมภาษณ์ของเพื่อนอาจารย์และเหล่าภัณฑารักษ์ผู้ดูแลคัดสรรงานแสดงในนิทรรศการต่างๆ จากนั้นก็ตัดต่อวีดีโอเหล่านั้นรวมกันเป็น Pitch video แล้วเริ่มขอทุนจากหลายแหล่ง มันใช้เวลาสักพักหนึ่งก่อนที่พวกเธอจะได้ทุนจาก 2 ที่ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือจาก The Aurora Foundation ที่ให้ทุนในการเดินทางไปญี่ปุ่นด้วย ในตอนนั้นทุกอย่างดูเหมือนจะดีจนกระทั่งความจริงที่ว่า Lenz ยังไม่เคยเจอและขออนุญาตจากอาจารย์คุซามะอย่างจริงจังได้ถูกเปิดเผยขึ้น เรื่องนี้ทำให้หัวหน้าขององค์กรที่ให้ทุนตกใจเป็นอย่างมากเพราะมันเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเลยสำหรับคนทำหนังสารคดี อย่างไรก็ตามดูเหมือนโชคจะยังเข้าข้างพวกเธอเพราะหัวหน้าองค์กรคนนี้เป็นคนญี่ปุ่นและมีประสบการณ์เกี่ยวกับงานโปรดักชั่นได้ตัดสินใจเข้ามาช่วยเหลือและเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นกับ Lenz ด้วย
ก่อนหน้าที่ Lenz จะได้เจอกับคุซามะ เธอต้องเรียนรู้บทสนทนาและวัฒนธรรมเบื้องต้นต่างๆ ของญี่ปุ่นหลายอย่างที่สอนโดยติวเตอร์ที่หัวหน้าองค์กรหามาให้ก่อนที่จะได้เจออาจารย์คุซามะตัวต่อตัว เช่น การโค้งทำความเคารพ การเตรียมของขวัญก่อนเข้าพบ เป็นต้น และในที่สุดในปี 2007 หัวหน้าองค์กรก็ได้แนะนำเธออย่างเป็นทางการกับอาจารย์คุซามะ แต่แทนที่ทั้งสองจะทำความเคารพกันตามแบบญี่ปุ่นที่ Lenz เรียนมา อาจารย์คุซามะกลับเดินเข้ามาจับมือเชคแฮนด์กับเธอแทน สำหรับเธอที่ชื่นชมคุซามะเป็นเวลาหลายปี มันช่างน่าตื่นเต้นที่ได้พูดคุย ถามคำถามมากมายและได้ยินคำตอบเหล่านั้นจากอาจารย์โดยตรง นอกจากนี้การได้มีโอกาสอ่านจดหมาย ดูภาพเก่าๆ ที่เขียนด้วยมือและพิมพ์ด้วยพิมพ์ดีดนั้นเป็นดังขุมทรัพย์และเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดสำหรับเธอในฐานะนักทำหนังและคนที่เรียนศิลปะเลยทีเดียว . สำหรับวิธีการสัมภาษณ์คุซามะ ช่วงแรกๆ Lenz จะมีล่ามคอยช่วยเหลือ ทีมงานจะมีกล้องตัวหนึ่งที่ใช้เรคคอร์ดอาจารย์อยู่และมีเคเบิ้ลสายใหญ่ใช้เชื่อมต่อกับล่ามในอีกห้องหนึ่งพร้อมกล้องอีกตัวหนึ่ง ล่ามจะดูมอนิเตอร์และฟังไปด้วย ส่วน Lenz เองก็มีหูฟังที่จะได้การแปลแบบทันที ถึงแม้ว่าคนตัดต่อคนแรกและคนสุดท้ายที่พวกเธอทำงานด้วยพูดภาษาญี่ปุ่นแต่ในช่วงระหว่างนั้นก็มีหลายคนผลัดเปลี่ยนหมุดเวียนกันมาทำหน้าที่นี้ ดังนั้นพวกเธอจึงต้องอัดเสียงทั้งหมดรวมถึงคำแปลเอาไว้สำหรับคนตัดต่อที่ไม่พูดภาษาญี่ปุ่นด้วย
Lenz กับทีมยังคงใช้วิธีนี้อยู่เป็นบางครั้ง แต่บางทีก็เปลี่ยนเป็นล่ามมานั่งข้าง Lenz แล้วแปลแทน ซึ่งมันอาจจะไม่ได้ดีเท่าวิธีแรกพราะบางครั้งจะมีบทสนทนาเกิดขึ้นระหว่างนั้นและเธอก็จะไม่ได้รับรู้การแปลในทันทีนั่นเอง . หลังจากนั้น Lenz ได้ตามถ่ายอาจารย์คุซามะอีกหลายครั้งในช่วงระยะเวลาหลายปีและในหลายๆ สถานที่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ Lenz ต้องบินไปญี่ปุ่นเท่านั้น แต่บางทีอาจารย์คุซามะเองก็เดินทางเช่นกัน นั่นทำให้พวกเธอต้องตามไปสัมภาษณ์อาจารย์ตามที่ต่างๆ ด้วยทั้งที่นิวยอร์กและลอนดอน
.
ปัญหาหลักในการสร้างคือเงินทุน
.
โปรดิวเซอร์ Karen Johnson, ผู้กำกับ Heather Lenz, โปรดิวเซอร์ Dan Braun และโปรดิวเซอร์ David Koh ที่ Sundance 2018
. Lenz กล่าวว่าแรกเริ่มเดิมทีคุซามะไม่ใช่คนโด่งดังอยู่แล้วเลยทำให้มันเป็นการยากที่จะหาผู้สนับสนุน มันอาจจะฟังดูเหลือเชื่อในตอนนี้ แต่ตอนเริ่มสร้างหนัง อาจารย์คุซามะไม่ได้รับการจดจำชื่อเสียงเรียงนามด้วยซ้ำไป ความจริงนี้ยังคงเป็นจริงแม้ว่าตอนนี้เธอจะเป็นศิลปินหญิงที่ขายดีที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ตาม . แม้หนังเรื่องนี้จะใช้เวลาสร้างนานเป็นเวลาหลายปีแต่สำหรับ Lenz เรื่องยากไม่ใช่การพยายามโน้มน้าวเหล่าภัณฑารักษ์และศิลปินคนอื่นๆ ให้มาเข้าร่วมกับเธอในหนัง แต่เพราะหนังมีค่าใช้จ่ายสูงแถมยังซับซ้อนในการถ่ายทำเพราะมันเกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามประเทศ, การสนทนาหลายภาษา, และภาพมากมายที่ต้องขออนุญาตก่อนนำมาใช้ อีกทั้งสำหรับสายสารคดี เงินทุนสนับสนุนส่วนมากมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่นำเสนอปัญหาทางสังคมมากเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งถึงแม้ว่าในหนังเรื่องนี้จะมีการพูดถึงปัญหาทางสังคมอยู่เช่นกัน แต่มันก็มีมุมมองที่ว่างานศิลปะไม่ได้จริงจังหรือน่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาน่าสลดใจอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในโลกนี้ มันเลยน่าเสียดายที่ไม่มีเงินทุนสนับสนุนมากพอสำหรับสารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนที่ทำสิ่งที่ช่างท้าทายและเป็นแรงบันดาลใจดังเช่นคนอย่างอาจารย์คุซามะ . นอกจากนี้ Lenz ยังเล่าเพิ่มเติมว่าครั้งหนึ่งเธอ pitch หนังให้ผู้หญิงที่ทำงานให้หญิงมีอิทธิพลคนหนึ่งฟัง แต่กลับถูกผลักไสเพราะคุซามะไม่ใช่ผู้หญิงอเมริกัน และเพราะความที่คนเหล่านี้มีธงในใจอยู่แล้วว่าหนังแบบไหน โครงสร้างแบบไหนควรได้รับการสร้าง ทำให้การหาทุนทำสารคดีของเธอยากขึ้นไปอีก . ท้ายที่สุดแล้วหนังเรื่องนี้ก็สำเร็จได้เพราะได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก เงินช่วยเหลือสนับสนุน, เงินบริจาคที่สามารถใช้ลดภาษีได้, เงินกู้ส่วนตัว, หนี้บัตรเครดิต, เหล่าคนใจดีที่ทำงานเพื่อเงินเล็กน้อยหรือไม่เอาเงินเลย รวมไปถึงการขายภาพยนตร์ล่วงหน้า . การได้มาฉายหนัง Kusama : Infinity รอบปฐมทัศน์ที่ Sundance Film Festival 2018 คือหนึ่งในฝันที่ยิ่งใหญ่ของเธอและมันมีความหมายกับเธอมาก เธอถูกถามจากหลายคนว่าเธอรอช่วงเวลาที่จะปล่อยหนังเรื่องนี้ออกมาหรือไม่ เพราะตอนนี้ช่างเป็นเวลาพอเหมาะพอเจาะเหลือเกิน ซึ่งเธอก็ปฏิเสธเพราะการที่ทำงานบางอย่างนานขนาดนี้และเยอะขนาดนี้มันไม่ใช่สิ่งที่เธอได้คิดฝันเลย ความจริงแล้วเธอเคยคิดด้วยซ้ำว่าตอนนี้เธอควรจะเป็นนักทำหนังสารคดีมืออาชีพ ไม่ใช่เพิ่งทำหนังยาวเรื่องนี้เสร็จแค่เรื่องเดียว แต่เธอก็ดีใจที่ตอนนี้โลกก็พร้อมที่จะได้เห็นถึงหนังที่เธออยากเล่าเสียที
.
ความก้าวหน้าในอาชีพของอาจารย์คุซามะกับผลกระทบต่อสารคดี
ในตอนเริ่มทำสารคดี Lenz ไม่เคยนึกมาก่อนว่าเธอจะใช้เวลาสร้างมันถึง 17 ปี และในช่วงระหว่างการสร้างหนังนั้นเองที่อาชีพการงานของคุซามะได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นเป็นอย่างมากจนมาถึงจุดที่ว่าคุซามะกลายเป็นศิลปินหญิงที่ขายดีที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากการวางแผนหรือคาดการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าจะพูดกันตรงๆ Lenz ยังเคยคิดด้วยซ้ำว่าหนังเรื่องนี้จะช่วยทำให้โลกรู้จักคุซามะอีกครั้งและทำให้หน้าที่การงานของคุซามะโด่งดังขึ้น ซึ่งเธอกล่าวว่าพอเธอมาพูดเอาตอนนี้ มันก็ออกจะฟังดูน่าขันเสียจริงๆ . สิ่งที่ตั้งใจไว้ตอนที่ Lenz เริ่มเขียนบทในปี 2001 คือ เธออยากให้เรื่องราวของคุซามะเป็นเรื่องราวของการหวนคืนวงการ ซึ่งแม้ท้ายที่สุดจะมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นมากมายและต้องเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายละเอียดไประหว่างทาง แต่ความตั้งใจนี้ของเธอก็ยังคงเป็นจริงอยู่จนเธอถ่ายทำเสร็จ . เธอวางแผนเอาไว้แต่ต้นว่าช่วงครึ่งแรกของหนังจะเป็นช่วงยุค 60 เพราะการที่คุซามะไปเทศกาลศิลปะนานาชาติ Venice Biennale 1966 ที่มีชื่อเสียงทั้งที่เธอไม่ได้รับเชิญแล้วจัด installation เป็นของตัวเองที่นั่นอย่างไม่แยแสใคร นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญและมีพลังเป็นอย่างมาก หากมองย้อนไป ที่ผ่านมาคุซามะเองก็พยายามที่จะเป็นที่ยอมรับในระบบ Gallery ในนิวยอร์กซิตี้แต่มันไม่เคยสำเร็จ เธอจึงตัดสินใจว่าจะไม่เป็นทาสให้แก่ระบบที่ตัดสินใจสิ่งต่างๆ แทนตัวศิลปินอีกต่อไป ต่อจากนี้เธอจะกำหนดมันด้วยมือของเธอเอง จะเห็นได้ว่าการเหยียดผิวและเหยียดเพศมันคืออุปสรรคที่ขวางกั้นให้คุซามะไม่ได้รับการเห็นคุณค่าเร็วกว่านี้และมันช่วยส่งเสริมอาการจิตเวชของเธอ ส่วนครึ่งหลังของหนังแผนที่วางไว้และคิดว่าเป็นการจบเรื่องที่ดีคือช่วงยุค 90 ที่คุซามะได้รับเชิญไปยัง Venice Biennale 1993 แต่ในครั้งนี้ในฐานะตัวแทนของประเทศญี่ปุ่น เธอเป็นศิลปินหญิงคนแรกที่ได้ทำแบบนั้น และมันก็เป็นอะไรที่กลับตาลปัตรจากสิ่งที่เธอถูกปฏิบัติในช่วงปี 60 กล่าวได้ว่านั่นมันคือช่วงเวลาแห่งชัยชนะที่แท้จริง . อย่างไรก็ตาม มันไม่สมเหตุผลอีกต่อไปแล้วที่จะจบหนังในปี 90 เพราะคุซามะเป็นศิลปินที่ยังมีชีวิตและยังคงทำสิ่งน่าตื่นเต้นอยู่ทุกวันอย่างต่อเนื่อง Lenz จึงยังคงเดินหน้าถ่ายทำหนังต่อไป เธอปฏิเสธที่จะจบหนังด้วยงานล่าสุดของคุซามะในเวลานั้นๆ เพราะจะเป็นการประทับวันที่ลงไปให้หนังและทำให้หนังล้าสมัย เธอเริ่มสนใจความสัมพันธ์และการยอมรับจากเมืองมัตสึโมโต้บ้านเกิดของอาจารย์ สภาพแวดล้อมวัยเด็กที่มืดมนและเป็นแรงผลักไสให้เธอออกจากญี่ปุ่น, ที่ที่ไม่เคยเข้าใจเธอเป็นเวลาหลายสิบปีเพราะเธอมาก่อนกาลและทำสิ่งที่แตกต่างจากที่ทุกคนคาดหวัง Lenz คิดว่านี่คือจุดจบของหนังที่ดีที่สุด เพราะมันเป็นความรู้สึกสากลที่ทุกคนสามารถรู้สึกร่วมกันได้ เพราะสุดท้ายแล้วอาจารย์ก็ทำสำเร็จ เธอสามารถกลับมาบ้านและได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่าจากทุกคนในที่สุด
.
อาจารย์คุซามะ ณ Venice Biennale ปี 1966
อาจารย์คุซามะใน New York City
.
สำหรับผู้กำกับหญิงที่ Lenz ชื่นชอบ ได้แก่ Jessica Yu จากหนังเรื่อง “In the Realms of the Unreal” เป็นเรื่องที่บอกเล่าอย่างกวีของศิลปิน Henry Darger ที่เธอคิดว่ามันช่างน่าซาบซึ้ง, Gabriela Cowperthwaite จากหนังเรื่อง “Blackfish” หนังทำได้ดีมากและได้ส่งผลไปถึงการเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ Seaworld, Marah Strauch จากหนังเรื่อง “Sunshine Superman” พาคุณไปยังอีกโลกหนึ่งและฟุตเทจมันช่างวิเศษเป็นอย่างมาก และท้ายที่สุด “The Kid stays in the Picture” ที่ร่วมกำกับโดย Nanette Burstein มันเป็นเรื่อง comeback story ที่มีวิธีการเล่าที่สร้างสรรค์มากและเป็นแรงบันดาลใจที่ดีมาก . คำแนะนำสำหรับนักทำหนังคนอื่นๆ Lenz แนะนำว่า สำหรับหนังเรื่องหนึ่งๆ ไม่ว่าจะหัวข้อใดก็ตาม มันมีวิธีการมากมายในการเล่าเรื่องและเราสามารถกำหนดวิธีการเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง เธอยังให้คำแนะนำสำหรับคนทำหนังอินดี้มือใหม่ว่าอย่าทำหนังแบบที่เธอทำ อยากให้พยายามคิดเรื่องที่มาจากไอเดียง่ายๆ ใช้เงินไม่มาก อย่าทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางระหว่างประเทศ, การใช้หลายภาษา ฯลฯ เหมือนเธอ เพราะจุดมุ่งหมายของมือใหม่คือการทำหนังเรื่องแรกให้เสร็จในเวลาที่กำหนดและใช้เงินให้น้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้ ให้เอาไอเดียที่ซับซ้อนไว้กับหนังเรื่องที่ 2 หรือ 3 แทน สำหรับผู้กำกับหญิงควรจะพิจารณาเข้าร่วมกับองค์กรต่างๆ(เช่น Women in Film และ Film Independent) เพื่อเพิ่มระบบสนับสนุนด้วย
Pumpkin, 1994, Benesse Art Site ณ นาโอชิม่า ประเทศญี่ปุ่น
------------- เครดิต : . https://heatherlenz.com/ . https://observer.com/2018/09/kusama-infinity-director-heather-lenz-spent-17-years-on-this-film/ . https://www.widewalls.ch/yayoi-kusama-film-heather-lenz-interview/ . https://womenandhollywood.com/sundance-2018-women-directors-meet-heather-lenz-kusama-infinity-9cf3d0dfa436/ . https://publicdelivery.org/yayoi-kusama-outdoor-sculptures/ . http://xpressmag.com.au/heather-lenz-capturing-infinity-with-yayoi-kusama/ . http://www.zimbio.com/photos/David+Koh/Heather+Lenz/2018+Sundance+Film+Festival+Kusama+Infinity/nRF_59T8mWO